ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
Thai Maritime Enforcement Command Center
ขนาด
ภาษา
ข่าวสาร
/
โฆษก ศรชล.
โฆษก ศรชล. ชี้แจง กรณี ศรชล. ร่วมกับ ทัพเรือภาคที่ ๑ จับกุมเรือประมงต่างชาติรุกล้ำเข้าทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย

เมื่อวันที่ ๒๔ ก.พ.๖๘ ศรชล.ภาค ๑ ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าว กรณีตรวจพบเรือประมงต่างชาติรุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย โดยตรวจพบกลุ่มเรือประมงต่างชาติ จำนวนประมาณ ๑๐ ลำ ประกอบด้วยเรือประมงลากคู่ เรืออวนล้อม และเรือไดปั่นไฟ เข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทย ตั้งแต่บริเวณ แลต. ๑๑ องศา ๐๖ ลิปดา เหนือ ลอง. ๑๐๒ องศา ๒๖ ลิปดา ตะวันออก จนถึง แลต. ๑๐ องศา ๕๘ ลิปดา เหนือ ลอง. ๑๐๒ องศา ๒๕ ลิปดา ตะวันออก โดยมีพฤติการณ์รุกล้ำเข้ามาทำประมงในห้วงเวลากลางคืนของทุกวัน และจะออกจากพื้นที่ไปจอดพักคอยในเวลากลางวัน ศรชล.ภาค ๑ จึงขอรับการสนับสนุนเรือในบัญชีกำลังในการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาเวลา ๐๗๐๐ ของวันที่ ๒๕ ก.พ.๖๘ ตรวจพบเรือประมงต่างชาติ จำนวน ๔ ลำ กำลังทำการประมง จึงนำเรือหลวงเทพาพร้อมกำลังพลประจำเรือเพื่อเข้าทำการจับกุมเรือประมงต่างชาติ ทั้ง ๔ ลำ แต่เรือประมงดังกล่าวมีพฤติกรรมหลบหนีและขัดขวางการเข้าจับกุมเมื่อเรือหลวงเทพาเข้าใกล้ จึงทำให้สามารถจับกุมเรือประมงต่างชาติได้ ๑ ลำ พร้อมลูกเรือ ๔ คนบริเวณ แลต. ๑๑ องศา ๐๖.๐๔๒ ลิปดา เหนือ ลอง. ๑๐๒ องศา ๓๐.๘๓๖ ลิปดา ตะวันออก (แบริ่ง ๑๘๘ ระยะ ๒๘ไมล์ จากทิศใต้เกาะกูด) ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และอยู่ในเขตการประมงของประเทศไทย ส่วน ๓ ลำที่เหลือได้หนีออกนอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทยได้

 

        ความสำเร็จในการจับกุมแม้ว่าจะมีการขัดขืน การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนและมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจสิทธิอธิปไตยของรัฐตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ (UNCLOS) ซึ่งกำหนดหลักการและข้อบังคับในการใช้สิทธิอธิปไตยของรัฐในการปกป้องและรักษาทรัพยากรทางทะเลของตน และพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ์การประมงในเขตการประมงไทย พ.ศ.๒๔๘๒ มีแนวทางการปฏิบัติในการใช้กำลังตามกฎการใช้กำลังสากลมุ่งเน้นการใช้กำลังในระดับที่เหมาะสมและจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดการขยายความรุนแรงเกินความจำเป็น เป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในกฎการใช้กำลังสากล ซึ่งจะใช้วิธีการจากเบาไปหาหนักภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ทำให้เกิดการยกระดับความรุนแรงเกินความจำเป็น


        โดยการดำเนินการในห้วงที่ผ่านมา สามารถจับกุมและดำเนินคดีต่อเรือต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๓ ลำ ประกอบด้วยเรือประภาทอวนปู อวนลอย อวนล้อม อวนลาก เบ็ดราว และคลาดปลิง สัตว์น้ำที่จับได้นั้นมีหลากหลายชนิด เช่น ปลาทู ปลาทูข้างเหลือง ปลาอีโต้มอญ ปลิง ฯลฯ เครื่องมือทำการประมงที่รุกล้ำเข้ามาส่วนใหญ่เป็นเรื่องมือคลาดปลิง ซึ่งเครื่องมือคราดสามารถทำลายระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะบริเวณพื้นทะเลที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปะการัง สาหร่ายทะเล หรือสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในรอยแยกของพื้นทะเล ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และอาจทำให้ทรัพยากรทางทะเลถูกจับเกินขีดความสามารถในการฟื้นฟู ส่งผลให้การจับปลาในอนาคตลดลงและไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ชาวประมงไทยก็จะทำการประมงได้ยากมากขึ้นจากการลดลงของปริมาณสัตว์น้ำ

 

        ภาพรวมในการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย ศรชล.ร่วมบูรณาการกับกรมประมง โดยศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย (FMC) ในการติดตามพฤติกรรมการทำประมง และการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการแจ้งเหตุของผู้ประกอบการประมงเพื่อจัดการกับปัญหาการรุกล้ำของเรือประมงต่างชาติ และร่วมมือกับกองทัพเรือ ตำรวจน้ำ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้มาตรการทางกฎหมายการจับกุมเรือที่ฝ่าฝืน และการดำเนินคดีตามกฎหมายไทย หน่วยงานมีบทบาทในการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ มีการประสานงานด้านการทูต ในการเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะเป็นตัวกลางในการหารือเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดเขตน่านน้ำ ส่งเสริมให้ประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมมือในการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมายและการรุกล้ำในน่านน้ำไทย


        การดำเนินการต่อไปจะมุ่งเน้นที่การบูรณาการการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย การรุกล้ำจากเรือต่างชาติ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่สามารถรวบรวมข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายจากหลายแหล่ง เพื่อให้การดำเนินการต่อไปมีความแม่นยำและรวดเร็ว ให้การสนับสนุนชุมชนผู้ประกอบการประมงให้มีบทบาทในการแจ้งเบาะแสและร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อจัดการกับปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ


        ท้ายนี้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมง ในความร่วมมือที่ได้แจ้งเบาะแสของเรือที่กระทำความผิด และขอให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนและชาวประมงไทยว่า “ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นั้น เราจะปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอย่างเต็มความสามารถ โดยมิยอมให้เรือประมงต่างชาติรุกล้ำเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรในการทำการประมง เป็นอันขาด ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพยากรของประเทศไทย คงอยู่กับลูกหลานของคนไทยตลอดไป”

...................................................

คณะทำงานโฆษก ศรชล.

กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘