ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
Thai Maritime Enforcement Command Center
ขนาด
ภาษา
เกี่ยวกับ ศรชล.
ประวัติความเป็นมา


ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรียกโดยย่อว่า "ศรชล." มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ จัดตั้งขึ้นโดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๖๒ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๒ เพื่อรักษาสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามที่ องค์การสหประชาชาติหรือ UN (United Nation) ในฐานะองค์การระหว่างประเทศสูงสุดจัดทำในชื่อว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ๑๙๘๒ (United Nations Convention on the Law of the Sea 1982: UNCLOS 1982) เพื่อใช้เป็นรัฐธรรมนูญทางทะเล ทั้งยังได้มีหน่วยงานในสังกัด UN หลายหน่วยที่ออกกฎหมายรองเกี่ยวกับทะเลในลักษณะอนุสัญญา (Convention) หรือพิธีสาร (Protocol) ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามอันทำให้กฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่ในขณะน้ันไม่สามารถ ใช้บังคับในเขตทางทะเลได้อย่างครอบคลุมผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีอยู่อย่างมากมายในทุก ๆ ด้าน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร เช่น

  1. องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) อนุสัญญา ที่สำคัญเช่น IMO Convention, SOLAS 1974, LOAD LINES 1966, TONNAGE 1969, COLREG 1972, STCW 1978, MARPOL73/78 
  2. องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) มีแผนปฏิบัติการที่สำคัญคือ International Plan of Action to prevent, deter and eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IPOA IUU 
  3. องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) อนุสัญญาที่สำคัญ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.๒๕๔๙ (Maritime Labour Convention, 2006) 

การจัดตั้ง ศรชล. จะทำให้มีเอกภาพในการบังคับบัญชาและบูรณาการ ประสานการปฏิบัติงานในเขต ทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ