
ผอ.ศรชล. มอบนโยบายพิทักษ์ทะเลไทย มุ่งเน้นสร้างเพื่อนเสริมมิตร กิจกรรมทางทะเล ที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ปลูกฝังการรักษ์ทะเลที่ยั่งยืน
วันนี้ (8 มีนาคม 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษา
ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศรชล.) ได้มอบหมายให้ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(รมว.กห.) เป็นผู้แทน ผอ.ศรชล. ในการประชุมมอบนโยบาย/แนวทางการปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี/ผอ.ศรชล.โดยมีพลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.และ รอง.ผอ.ศรชล. พร้อมด้วยอธิบดีและผู้แทนหน่วยงานของ ศรชล. ทั้ง ๗ หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้แทน จากจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ในฐานะ ผอ.ศรชล.จังหวัด เข้าร่วมประชุมฯ ณ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
ผบ.ทร./รอง ผอ.ศรชล. ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณและ รมว.กห. ที่ได้มาเป็นผู้แทน ผอ.ศรชล. ในการมอบนโยบาย/แนวทางการปฏิบัติของ ผอ.ศรชล.ฯ ในวันนี้ พร้อมทั้งกล่าวถึงความเป็นมาและการปฏิบัติของ ศรชล.ที่ผ่านมาว่า ศรชล. ได้จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๖๒ มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะ มีหน้าที่และอำนาจ และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศรชล. มี ผบ.ทร. เป็น รอง ผอ. ศรชล. และ เสธ.ทร.เป็นเลขาธิการ ศรชล. การบูรณาการในการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลนั้น มุ่งเน้นความมั่นคงทางทะเลแบบองค์รวม ดังนั้นการปฏิบัติงานของ ศรชล. จึงเป็นการบูรณากำลังพล และกำลังทางเรือจาก
หน่วยงานหลักของ ศรชล. ทั้ง 7 หน่วยงาน ในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล และให้ความคุ้มครองและ
รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมีผลการปฏิบัติงานที่สำคัญได้แก่ การช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวในทะเล การส่งกลับผู้เจ็บป่วยสายแพทย์ การบูรณาการหน่วยงานทางทะเลและหน่วยงานความมั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสร้างความตระหนักรู้ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และเพื่อให้สามารถตอบสนอง
ภารกิจในการจัดการแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงานของรัฐในการป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหา รับมือสถานการณ์หรือการกระทำผิดกฎหมายที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือกิจกรรมทางทะเล การช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งปฏิบัติการอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย ศรชล.จึงได้ดำเนินโครงการ/แผนงานที่สำคัญ ได้แก่ การจัดหาเรือปฏิบัติการความเร็วสูงบริเวณชายฝั่ง การจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล เป็นต้น
หลังจากนั้น นายสุทิน คลังแสง รมว.กห. ในฐานะ ผู้แทน ผอ.ศรชล. ได้กล่าวมอบนโยบาย/แนวทาง
การปฏิบัติงานของ ผอ.ศรชล. ว่าตามที่ทุกท่านทราบกันดีว่าปัจจุบันเมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร จะมีลักษณะที่หลากหลาย โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของทะเลประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ ๒๔ ล้านล้านบาทต่อปี อันพึงได้รับจากกิจกรรมทางทะเล อาทิ การท่องเที่ยว การพาณิชยนาวี และการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล ศรชล.ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จะต้องดำเนินการในการป้องกันรักษา และเพิ่มพูนผลประโยชน์ของชาติ
ทางทะเลในทุกมิติให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งรักษาไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย
สิทธิอธิปไตย และสิทธิหน้าที่อื่นใดให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ท่านนายกรัฐมนตรี/ผอ.ศรชล.จึงขอมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานให้กับ ศรชล. ดังนี้
1. การขับเคลื่อนการบูรณาการฐานข้อมูลความมั่นคงทางทะเล ไปสู่การเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจร่วม
ที่ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลความมั่นคงทางทะเล (Maritime Data Driven Joint Inter-Agency Task Forces)
เพื่อให้ ศรชล.มีกลไกตระหนักรู้สถานการณ์ทางทะเล (Maritime Domain Awareness : MDA) เชื่อมโยง
กับหน่วยงานทางทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีข้อมูลเช่นเดียวกับนานาชาติ
2. การยกระดับความพร้อมในการค้นหา ช่วยเหลือประชาชนและผู้ประสบภัยทางทะเล (Maritime Search
and Rescue) ให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล ตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime
Organization : IMO) กำหนด ทำให้การเข้าช่วยเหลือได้รวดเร็วมีมาตรฐาน โดยมีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์กู้ภัยทางทะเลเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ให้พี่น้องประชาชนในทะเลได้รับการคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินมีเรือพร้อมออกทำการค้นหาและช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง สามารถป้องกัน
และบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้นในทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ
3. การพัฒนาประสิทธิภาพการช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการส่งกลับผู้เจ็บป่วยสายแพทย์
ในทะเล (MEDEVAC at Sea) ให้มีมาตรฐานสากล โดยร่วมกับทุกหน่วยงานในการส่งกลับผู้ป่วยให้รวดเร็ว ถูกต้องตามวิธีทางการแพทย์ ประชาชน นักท่องเที่ยว และลูกเรือประมงในทะเลและเกาะแก่ง สามารถเข้าถึงการส่งกลับสายแพทย์ในทะเล ทำให้ผู้ประสบภัยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการรับกลุ่มนักท่องเที่ยวและเรือสำราญขนาดใหญ่
4. การบูรณาการหน่วยงานทางทะเลและหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการสกัดกั้นการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล (Maritime Interdiction at Sea) ในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลตามแผนแม่บท
ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานด้านการบังคับใช้กฎหมายในทะเลให้เป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และมีความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค เพื่อให้ร่วมมือกันแก้ปัญหาด้วยแนวคิดเดียวกัน
5. การขับเคลื่อนสมุทราภิบาล (Maritime Good Governance) ในการสร้างความตระหนักรู้ภาคประชาชนผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ชุมชน และเกาะแก่งเพื่อให้เป็นหุ้นส่วนการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (Maritime National Interest Strategic Partnership) ให้ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการใช้ทะเลอย่างยุติธรรม รักษาไว้ให้ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (SDG14) รวมทั้งกล่าวขอขอบคุณทุกท่าน สำหรับความตั้งใจในการดำเนินงานที่ผ่านมาและขอให้ ศรชล. ร่วมมือกันผลักดันนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานของนายกรัฐมนตรี/ผอ.ศรชล. เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลและประชาชนชาวไทยนอกจากการประชุมมอบนโยบาย/แนวทางการปฏิบัติงานฯ ข้างต้นแล้ว ศรชล. ยังจัดให้มีการจัดนิทรรศการจากหน่วยงานหลักของ ศรชล. และ หน่วยงานที่ ศรชล. ร่วมจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ในการปฏิบัติงานร่วมกันแล้ว ได้แก่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ กรมสรรพามิต เข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่สำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่สอดคล้องกับภารกิจของหน่วยงานนั้น ๆ อีกด้วย
“ ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค
เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”